เรื่อง จ้างแรงงานต่างกับจ้างทำของอย่างไร

เรื่อง    จ้างแรงงานต่างกับจ้างทำของอย่างไร

คำพิพากษาฎีกาที่ 13825/2555

นายวีระชัย    บุญยทรรศนีย์                                          โจทก์

บริษัท เฟอร์เทอร์แลนซ์ อินเทอร์เทรด (1963) จำกัด          จำเลย

1.    โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานขับรถ    ส่งของ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามผลงาน ในกรุงเทพได้เที่ยวละ 1,100 บาท หากขับรถออกต่างจังหวัด จะได้เที่ยวละ 1,200 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 จำเลย เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 55,415 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15 วัน เป็นเงิน 9,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 55,415 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

2.    จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการจ้างทำของมิใช่จ้างแรงงาน โดยจำเลยจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าและจ่ายค่าจ้างเป็นรายเที่ยว หากโจทก์ไม่ส่งสินค้าให้จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง การทำงานมิได้ถือระยะเวลาการทำงานเป็นสำคัญแต่ถือเอาผลสำเร็จของงานเท่านั้น จำเลยไม่มีอำนาจบังคับว่าโจทก์ต้องมาทำงานทุกวันโจทก์สามารถหยุดงานได้อย่างอิสระไม่ต้องส่งใบลา อีกทั้งจำเลยก็ไม่มีสิทธิลงโทษโจทก์จากการหยุดงานหรือขาดงานและโจทก์มิได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง

3.    ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 29,915 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี  

4.    ศาลฎีกาเห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานโดยสมัครงาน ผ่านการทดลองงาน มีผู้ค้ำประกันการทำงานจำเลยหักเงินค่าจ้างส่งสำนักงานประกันสังคมทุกเดือน โจทก์จึงเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

5.    มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจ้างแรงงานหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้ที่มารับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยจะได้รับค่าจ้างขนส่งสินค้าเป็นรายเที่ยวเฉพาะวันที่มีการขนส่งสินค้าเท่านั้น หากวันใดไม่มีการขนส่งสินค้า ผู้รับจ้างก็จะไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันนั้นๆ ค่าจ้างดังกล่าวก็มิได้คิดกันเป็นรายวันหรือรายเดือน ผู้รับจ้างขนส่งสินค้าไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ดังเช่นพนักงานอื่นที่เป็นลูกจ้างของจำเลย ผู้รับจ้างจะต้องมีพาหนะที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าโดยจำเลยมิได้เป็นผู้จัดหาและผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำมันรถ ค่าบำรุงรักษารถ ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เกี่ยวกับรถเองทั้งสิ้น ผู้รับจ้างมิได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยดังเช่นพนักงานอื่น เมื่อผู้รับจ้างขนส่งสินค้าหยุดงานหรือไม่มาส่งสินค้าเพราะเหตุของการเจ็บป่วยก็ดี ไปทำกิจธุระใดๆ ก็ดี ผู้รับจ้างขนส่งสินค้าก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันที่มิได้มาทำการส่งสินค้าและหยุดงานไปนั้น เห็นว่า การจ้างงานขนส่งสินค้าเช่นนี้จึงมีลักษณะบ่งบอกถึงจำเลยมุ่งผลสำเร็จของงาน คือให้มีการขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าตามช่วงเวลานั้นจนสำเร็จเสร็จสิ้นไปเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการทำงานนั้นโจทก์จะมาทำงานในวันใดก็ได้ตามความสมัครใจ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาโจทก์ว่าโจทก์จะต้องมาทำงานวันใดหรือเวลาใด โจทก์จะมาทำงานหรือไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการของโจทก์เองไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าโจทก์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยและหากโจทก์ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามจำเลยไม่มีสิทธิลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากใช่สัญญาจ้างแรงงานไม่ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

6.    พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม          คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น 
www.paiboonniti.com