เรื่อง1.ขโมยน้ำมันรถบรรทุกน้ำมันมีวิธีป้องกันอย่างไร 2.ค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างไหม 3.ค่ารักษารถเป็นค่าจ้างไหม

คำพิพากษาฎีกาที่  6100-6101/2556

นายประสิทธิ์  ที่ 1  กับพวกรวม  2 คน                      โจทก์

บริษัท  พี.เอส.พี.                                                        จำเลย

เรื่อง      1.    ขโมยน้ำมันรถบรรทุกน้ำมันมีวิธีป้องกันอย่างไร

              2.    ค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างไหม

              3.    ค่ารักษารถเป็นค่าจ้างไหม

       1.    โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า  เมื่อวันที่  27  กุมภาพันธ์  2540  และวันทื่  2  กรกฎาคม  2544  จำเลยรับโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่  1  ตามลำดับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ (1)  ค่าจ้างอัตราสุดท้ายโจทก์ที่  1 เดือนละ 5,980 บาท  โจทก์ที่ 2 (2) เดือนละ 9,027 บาท(3) ค่าเที่ยวเฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาทต่อคน (4) และค่ารักษารถเดือนละ 3,000 บาทต่อคน กำหนดการจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน  เมื่อวันที่  20  มิถุนายน  2549  และวันที่  27  มิถุนายน  2549  จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 ตามลำดับ  โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด  จำเลยต้อง (5) จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1  เป็นเงิน 101,880 บาท  โจทก์ที่ 2  เป็นเงิน 160,216 บาท (6) สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 33 วัน เป็นเงิน 18,678 บาท  โจทก์ที่ 2 จำนวน 27 วัน เป็นเงิน 24,699 บาท (7) ค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง  ที่ไม่เป็นธรรมเท่ากับอายุงานปีละ 1 เดือน  โจทก์ที่ 1  เป็นเงิน  84,900 บาท  โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 180,243 บาท  และจำเลยต้อง (8) คืนเงินประกันในการทำงาน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1

        2.     จำเลยให้การว่า  ค่าจ้างอัตราสุดท้ายโจทก์ที่  1  เดือนละ  5,959  บาท  โจทก์ที่  2  เดือนละ  8,768  บาท (9) เงินค่าเที่ยวคำนวณตามระยะทางเมือขับรถไปส่งสินค้าแต่ละครั้ง  ตามประกาศอัตราค่าเที่ยว  มิได้เป็นเงินที่จ่ายให้ประจำ เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 5,000 บาท (10) ส่วนค่ารักษารถเป็นเงินรางวัลจูงใจพนักงานขับรถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย  มิได้เป็นเงินที่จ่ายให้แน่นอน  ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบข้อบังคับของจำเลย  วันที่  26  เมษายน  2549  โจทก์ที่ 2  ถูกเจ้าพนักงานตำรวจปราบปรามการทุจริตน้ำมันทำการจับกุมบริเวณเพิงรับซื้อขายน้ำมันไม่มีเลขที่  ริมถนนบางปะหัน – บางปะอิน  และเมื่อวันที่  14  มิถุนายน  2549  โจทก์ที่  1  ร่วมกับนายจะเด็ด  ทับทิมทอง  พนักงานฝ่ายซ่อมบำรุง แผนกปฏิบัติการขนส่งของจำเลย (11) ปลอมแปลงเอกสารการเบิกจ่ายน้ำมัน  ลงลายมือชื่อพนักงานคนอี่นและเอาน้ำมันโซลาของจำเลยไป  การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย  เป็นความผิดร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับกับทำงาน  ขอให้ยกฟ้อง

 

        3.     ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 8,370 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ที่ 1 และยกฟ้องโจทก์ที่ 2

 

        4.     โจทก์ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์ศาลฎีกา

5.     ศาลฎีกา  ฟังข้อเท็จจริงว่า  โจทก์ที่ 1 ได้ค่าจ้าง 5,959 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้าง 8,768 บาท (12) และโจทก์ทั้งสองยังได้เงินค่าเที่ยว  คิดตามจำนวนเที่ยว ระยะทางและประเภทรถตามอัตราที่จำเลยกำหนด (13) ได้เงินรางวัลในการขับรถปลอดภัยและรอบคอบ มีความขยัน  การดูแลรักษารถ  ตามอัตราค่าเที่ยวและคู่มือพนักงานขับรถ (14) เงินค่าเที่ยวมีจุดมุ่งหมายจ่าย เพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานจึงเป็นค่าจ้าง (15) ส่วนเงินรางวัลเป็นเงินที่จ่ายให้เป็นกำลังใจในการทำงานตอบแทนความดีความขยัน  ไม่ใช่ตอบทานการทำงานโดยตรงจึงไม่ใช่ค่าจ้าง (16) จำเลยไม่มีประจักษ์พยาน หรือ พยานแวดล้อมรู้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ยักยอกน้ำมัน ไม่ปรากฎว่าโจทก์ที่ 1  มีส่วนรู้เห็นในการจัดทำและลงลายมือชื่อในเอกสารการเติมน้ำมัน  จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1  ทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย  จำเลยจึงต้อง (17) จ่ายค่าชดเชยและสินจ้าง  แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (18) จำเลยมีพันตำรวจตรีปรีชา  เบิกความเป็นพยานยืนยันว่าซุ่มดูเห็นโจทก์ที่ 2 เปิดฝาถังน้ำมันรถให้นายสมบัติ  ใช้สายยางดูดน้ำมันใส่ถัง  พยานเข้าจับกุม และยึดได้ของกลาง (19) จึงเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

 

        6.     (20)เงินค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างหรือไม่  เห็นว่า  การจ่ายเงินค่าเที่ยวเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่จ่ายให้พนักงานขับรถ  เมื่อขับรถไปส่งน้ำมันให้ลูกค้า  โดยมีอัตราการจ่ายที่สถานที่ขับรถไป  ย่อมเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง  จึงเป็นค่าจ้าง (21) ค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างที่คิดคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำงาน  ขับรถให้แก่นายจ้าง  จึงมีจำนวนผันแปรไปตามปริมาณงานที่ทำได้ ไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้เหมือนกับค่าจ้างรายเดือนแบบเหมาจ่ายซึ่งเป็นเรื่องปกติ  การจ้างแรงงานรายเดียวกันอาจกำหนดวิธีคิดคำนวณค่าจ้างเป็นหลายแบบผสมผสานกันได้ มิใช่ว่าหากค่าตอบแทนมีจำนวนไม่แน่นอนเท่ากันทุกเดือนแล้วจะไม่ใช่ค่าจ้าง

 

        7.     พิพากษายืน

 

                                                        รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตมั่น