เศรษฐกิจถดถอย….นายจ้าง-ลูกจ้างต้องช่วยกันประคองธุรกิจให้อยู่รอด

รายงานพิเศษ : สายงานเศรษฐกิจอีคอนไทย
เศรษฐกิจถดถอย….นายจ้าง-ลูกจ้างต้องช่วยกันประคองธุรกิจให้อยู่รอด
โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 กระทบงานเศรษฐกิจโลกและไทยหนักกว่าที่คาด โดยมีความรุนแรง
มากกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีที่ผ่านมามากกว่าสิบเท่าเนื่องจากเศรษฐกิจมีการหดตัว
กระทบไปถึงธุรกิจใหญ่น้อยและประชาชนรากหญ้า สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่
ระบุว่าไตรมาสที่ 2/2563 เศรษฐกิจจะหดตัวต่อเนื่องอาจติดลบถึงร้อยละ 14 จากที่ไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 1.8
คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีอาจถดถอยถึงร้อยละ 5.5 จากมาตรการคุ้มเข้มการแพร่ระบาดด้วยการล็อกดาวน์ป้องกันโรคปิด
พื้นที่เศรษฐกิจทั่วประเทศส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมมีมากกว่า 10 ล้านคน กระทบกำลังซื้อ
ของประชาชนลดน้อยหายไปมากจนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่ำสุด
เป็นประวัติการณ์ที่มีการบันทึกไว้ ภาพที่ไม่ควรจะเห็นในระบบเศรษฐกิจไทยที่ก้าวมาถึงยุค 4.0 คือคนจนทั่วประเทศ
ไม่มีจะกินต้องตั้งโรงทาน ตู้ปันสุข ตลอดจนแจกถุงยังชีพมีแรงงานตกงานรอเข้าแถวเพื่อรับเงินประกันสังคม
ยาวเหยียด
รัฐบาลถึงแม้จะยังกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจที่ทรุดหนักทำให้คลายล็อกเฟส 2 ไปเมื่อ
อาทิตย์ที่แล้วและมีแนวโน้มที่จะคลายล็อกมากขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของไทยดีขึ้นเกือบปกติเป็น
ประเทศต้นแบบของหลายประเทศ การคลายล็อกภาคธุรกิจโดยเฉพาะศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์
และร้านค้าต่างๆ ผู้ประกอบการตอบสนองร่วมมืออย่างดีเนื่องจากที่ผ่านมาภาคค้าปลีกได้รับผลกระทบรุนแรงคาดว่า
ทั้งระบบเสียหายมากกว่า 5 แสนล้านบาท คาดว่าไตรมาสที่ 2 ดัชนีค้าปลีกอาจหดตัวมากกว่าร้อยละ 20 สูงสุดเป็น
ประวัติการณ์ อย่างไรก็ดีสัปดาห์ที่ผ่านมามีแค่วันอาทิตย์แรกที่เปิดซึ่งคนแน่นห้างแต่หลังจากนั้นผู้ที่เข้าไปเดินห้าง
เหลือแค่ร้อยละ 15 ของปกติขณะที่ร้านค้าและร้านอาหารในห้างเปิดเพียงแค่ร้อยละ 60 คงต้องมีการประเมินหลัง
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเยียวยา 5,000 บาทใช้งบประมาณ 5.85 แสนล้านคนมีประชากรเป้าหมายเข้าถึง
มากกว่า 26 ล้านคนว่ากำลังซื้อจะกลับเข้ามามากน้อยเพียงใด
ต้องเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของโลกนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2473 ขณะที่เศรษฐกิจ
ของไทยอิงกับการค้า-ส่งออก-บริการและซัพพลายเชนโลกจึงได้รับผลกระทบโดยตรง เศรษฐกิจจะทรุดตัวยาวไป
อย่างน้อย 2-3 ปีภาวะตลาดแรงงานจะไม่เหมือนเดิมกลายเป็นวิถีใหม่ “New Normal” ผลกระทบไล่ไปตั้งแต่ธุรกิจ
รายย่อย-เอสเอ็มอีไปจนถึงขนาดใหญ่แม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด
เดือนเมษายนที่ผ่านมายอดผลิตเพื่อส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 83.5 ต่ำสุดในรอบ 30 ปี หากยืดเยื้อไปถึงเดือนมิถุนายน
หลายโรงอาจต้องปิดโรงงานซึ่งจะส่งผลลามไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ นับพันกิจการที่อยู่ในโซ่อุปทาน

การเห็นอนาคตการจ้างงานต้องเห็นภาพสภาวะของสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพประคอง
ตัวหลายธุรกิจอาจไปไม่รอดไล่มาตั้งแต่ภาคค้าปลีกซึ่งกระทบหนักมากแต่ไม่เกี่ยวข้องกับพวกอาหารและสินค้าจำเป็น
ที่ยังไปได้คาดว่าทั้งระบบปีนี้ดัชนีค้าปลีกอาจหดตัวร้อยละ 14-20 เนื่องจากชาวบ้านไล่มาตั้งแต่มนุษย์เงินเดือนที่เป็น
แรงงานในระบบตกงานล้านเศษและแรงงานนอกระบบร่วมสิบล้านคนไม่มีงานทำอยู่ได้เพราะเงินเยียวยาจากรัฐบาล
ซึ่งเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนสุดท้ายที่จะได้รับเงินหากจะกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลคงต้องใส่เงินเข้าไปอีก กำลังซื้อทั้งใน
และนอกประเทศที่หายไปกระทบสถานประกอบการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยกเว้นที่เกี่ยวกับอุปโภค-บริโภค
และธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพนอกนั้นอยู่ในสภาพทรงตัวไปจนถึงหดตัว ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (สอท.) เดือนเมษายน
ที่มีการสำรวจต่ำสุดในรอบ 11 ปีแม้แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้หดตัวหนักหากสายปานไม่ยาวคงอยู่ยาก
แม้แต่ธุรกิจระดับ “Mega Company” มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทอย่างการบินไทยที่รัฐบาลอุ้มมาตลอดมี
หนี้สินล้นพ้นตัวต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลางภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดแต่การบินไทยแต่จะเป็นภาวะของ
สถานประกอบการที่จะต้องรับมือกับความไม่แน่นอนที่คาดเดาไม่ถึง ส่วนที่หวังว่าการลงทุนใหม่ที่จะเป็นแหล่งจ้างงาน
ในอนาคตแต่วันนี้ไม่ต้องพูดถึงไตรมาสแรกการขอส่งเสริมลงทุนจาก BOI หดตัวเป็นประวัติการณ์ติดลบร้อยละ -44
ข้อมูลจากสถาบันการเงินระบุว่าธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมากกว่าร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการปรับพอร์ตหนี้หรือ
โครงสร้างหนี้เพื่อเอาตัวรอด
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความซับซ้อนเนื่องจากอิงอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งการแพร่ระบาด
ของไวรัสโควิด-19 ยังควบคุมไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจยังทรุดตัวไม่ถึงจุดต่ำสุด สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังมี
แนวโน้มที่จะทรุดตัวมากกว่าเดิมเห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าเดือนเมษายนที่ผ่านมา สินค้าทุนประเภทเครื่องจักร
หดตัวสูงถึงร้อยละ 26.8 วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่นำมาผลิตขายในประเทศและส่งออกหดตัวร้อยละ 14.4
ขณะที่สินค้านำเข้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศหดตัวร้อยละ 13.2 หากเมื่อนำค่าเฉลี่ย 5 เดือนแรกของ
ปีนี้พบว่าทั้ง 3 รายการล้วนอยู่ในโซนหดตัวทั้งสิ้น ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่าทั้งปี
เศรษฐกิจอาจหดตัวร้อยละ 5-6 ขณะที่ “TDRI” ประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีเศรษฐกิจจะฟื้นตัว
อีกทั้งแนวโน้มวิถีใหม่ของเศรษฐกิจโลกอาจเปลี่ยนจากการค้าเสรีในลักษณะ “Globalization” โดยประเทศต่างๆ
ซึ่งได้รับผลกระทบทำให้อัตราการว่างงานสูงผลักดันให้มีการลงทุนและการผลิตในประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น จะหัน
มาพึ่งเศรษฐกิจในประเทศรวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าจะกลับมามีบทบาทมากขึ้น เศรษฐกิจโลกจะมีการแยกตัว
แบ่งเป็นโซนจากกันอย่างเด่นชัดในลักษณะที่เรียกว่า “Decoupling Economy”
ปัญหาใหญ่ของธุรกิจเอกชนที่กำลังเผชิญคือสภาพคล่องที่ต้องคุยกับแบงค์หรือเจ้าหนี้ให้ลงตัว สิ่งที่นายจ้าง
ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ คือการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้อยู่รอดด้วยการลดต้นทุนเริ่มจากปรับลดพนักงาน การจ้างแรงงาน
ใหม่คงมีน้อยมากเฉพาะตำแหน่งเทคนิคหรือเท่าที่จำเป็นจริงๆ ที่พอมีทุนได้จังหวะปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า
ผลข้างเคียงที่ตามมาจะเห็นการเร่งตัวของโครงการสมัครใจลาออกในรูปแบบต่างๆ อย่างกรณีของการบินไทยคงเป็น
กรณีศึกษาว่าการแก้ปัญหาฟื้นฟูธุรกิจอันดับต้นๆ คือเอาคนส่วนเกินออกเพื่อลดต้นทุน ภาพที่เห็นจากนี้ไปคือการ
เปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานของโลกที่จะหันมาพึ่งพาตนเองหรือยังอยู่ในกลุ่มโซนนิ่งโดยเน้นขีดความสามารถด้าน
ต้นทุนเป็นสำคัญอุตสาหกรรมในประเทศจะเห็นการลดการจ้างงานประจำโดยเปลี่ยนเป็นงานประเภทเอาท์ซอร์ซ

ตลอดจนงานฟรีแลนซ์ เนื่องจากในช่วง Work from home หลายบริษัทพบว่าสามารถทำงานโดยใช้พื้นที่ในสำนักงาน
ได้น้อยลงบางธุรกิจมีการปรับลดจำนวนคนและบางส่วนจ้างเป็นจ็อบเพื่อเป็นการลดต้นทุน หลายอุตสาหกรรมเริ่มมี
การย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กรณีของกลุ่มพานาโซนิคที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม
ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออนาคตตลาดแรงงาน
จากนี้ไปภูมิทัศน์ตลาดแรงงานและการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิม ผู้ที่ตกงานหรือผู้เพิ่งจบการศึกษาใหม่ที่กำลัง
เข้าสู่ตลาดแรงงานจะหางานยากมากขึ้นแม้แต่แรงงานพวกที่มีงานทำอยู่แล้วก็มีความเสี่ยง ช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตอย่าง
ที่ในอดีตไม่เคยเกิดขึ้นทั้งนายจ้างและลูกจ้างคงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ของ
ธุรกิจช่วยกันประคับประคองพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจของธนาคารไทยพาณิชย์มีการประเมินว่า
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่สูงกว่าทุกวิกฤตในอดีตของไทย
ผลกระทบกินวงกว้างสถานประกอบการต่างๆ กำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด ถึงแม้แรงงานอีก
จำนวนมากอาจไม่ตกงานแต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก การฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะเป็นไป
อย่างช้าๆ ซึ่งยังไม่ชัดว่าจะเป็นการฟื้นตัวแบบ “U-Shaped/L-Shaped” ทำให้คุณภาพชีวิตและแรงงานมีความเสี่ยง
และความเปราะบางจากการสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ จากนี้ไปทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องมีการร่วมมือในการ
ปรับเปลี่ยนเพื่อการก้าวผ่านไปด้วยกัน